Homeบทความบทความทั่วไปการไตร่ตรองสาส์นของพระสันตะปาปาฟรังซิส โอกาสเทศกาลมหาพรต 2024

การไตร่ตรองสาส์นของพระสันตะปาปาฟรังซิส โอกาสเทศกาลมหาพรต 2024

การไตร่ตรองสาส์นของพระสันตะปาปาฟรังซิส โอกาสเทศกาลมหาพรต 2024
“โดยทะเลทราย พระเจ้าได้ทรงนำเราไปสู่อิสรภาพ”[1]

++++++++++

แนวคิดสำคัญ

            1. ละทิ้งความเป็นทาส ไม่หวนกลับไปอีก การออกเดินทางครั้งใหม่

            2. ในทะเลทรายที่จะทำให้เราได้รื้อฟื้นพันธสัญญาที่เราได้ทำกับพระเจ้า (บนภูเขาซีนายในพันธสัญญาเดิม ในคำมั่นสัญญาแห่งศีลล้างบาปในพันธสัญญาใหม่) อาศัยการอธิษฐานภาวนา การจำศีลอดอาหาร และการทำบุญให้ทาน

            3. รื้อฟื้นความรักต่อเพื่อนพี่น้องตามพระบัญญัติ (พระบัญญัติประการที่ 4-10) การใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

            4. การออกเดินทางด้วยความเชื่อ ความหวัง และความรัก

การอพยพของชาวอิสราเอลจากดินแดนแห่งการเป็นทาส

            พี่น้องชายหญิงที่เคารพรัก พระสันตะปาปาฟรังซิส ได้ออกสาส์นสำหรับเทศกาลมหาพรตประจำปี 2024 โดยยกเรื่องราวจากหนังสืออพยพ เมื่อพระเจ้าได้ทรงนำชาวอิสราเอลออกมาจากประเทศอียิปต์ดินแดนแห่งการเป็นทาส

            ชาวอิสราเอลได้อพยพเข้าไปสู่ประเทศอียิปต์อันเนื่องมาจากความแห้งแล้ง ดังที่ได้ปรากฎในหนังสือปฐมกาลบทที่ 42 ดังเช่นผู้คนในยุคปัจจุบันที่แสวงหา 1) สันติภาพ 2) ความกินดีอยู่ดี 3) ชีวิตใหม่ และ 4) อิสรภาพ

            แม้ว่าในประเทศอียิปต์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ความกินดีอยู่ดี สะดวกสบาย แต่พวกเขาไม่มี ก) อิสระภาพ (Freedom) และ ข) สันติสุข (Peace) พวกเขาได้กลายเป็นทาสของฟาโรห์แห่งอียิตป์ ต้อง 1) ทำงานกรรมกรก่อสร้างอย่างหนัก (อพย 1:11-14) 2) ถูกทำลายเผ่าพันธุ์ด้วยการประหารบุตรหัวปีที่เกิดมา (อพย 1:15-16) และ 3) ถูกผู้มีอำนาจเบียดเบียน (อพย 1:11) ด้วยเหตุนี้เอง ความเป็นทาสของชาวอิสราเอลทำให้เขาเป็นทุกข์โศกเศร้าเป็นอย่างมาก ความทุกข์นี้ทำให้เขาร้องทูลต่อพระเจ้า และพระเจ้าทรงสดับฟังเสียงคร่ำครวญของพวกเขา (อพย 1:23)

การเป็นทาสในยุคปัจจุบัน

            เช่นเดียวกับโลกยุคปัจจุบัน หลังการแพร่กระจายของโรคระบาด การดำเนินชีวิตของมนุษยชาติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

            1) ความรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนลำบากในการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ

            2) ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ร่ำรวยและผู้ยากจน นายทุนและชนชั้นแรงงาน ประเทศมหาอำนาจและประเทศที่ยากจน

            3) ความแตกแยกที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ช่องทางการสื่อสาร ช่องว่างระหว่างวัย

            4) การเบียดเบียนทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม

            5) สงครามและความรุนแรง อันมีรากฐานมาจากการค้าอาวุธ เชื้อชาติ และเศรษฐกิจ

            6) ผู้คนอพยพอันเนื่องมาจากการแสวงหาแหล่งทำมาหากิน การลี้ภัยจากสงครามและความรุนแรง

            7) สถาบันครอบครัวเปราะบาง แตกแยก หย่าร้าง

            8) ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย อากาศวิปริตแปรปรวน สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ผู้คนเจ็บป่วย

พระเจ้าทรงได้ยินเสียงร้องทุกข์ของมนุษย์และแผ่นดิน

            เมื่อพระเจ้าสดับฟังคำทุกข์ร้อนของชาวอิสราเอล พระองค์ลงมาเพื่อช่วยพวกเขาให้รอดพ้น ปลดปล่อยพวกเขาจากความเป็นทาส นำไปสู่ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์และให้มีอิสรภาพอย่างแท้จริง (เทียบ อพย 3:7-8) พระเจ้าจึงสั่งให้โมเสสไปเฝ้าฟาโรห์ เพื่อจะได้พาชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ (เทียบ อพย 3:10) เมื่อโมเสสมีความหวาดกลัว พระเจ้าได้สัญญาว่า “เราจะอยู่กับท่าน และเมื่อท่านออกจากอียิปต์แล้ว จงมานมัสการพระเจ้าที่ภูเขานี้” (เทียบ อพย 3:12)

            เมื่อโมเสสพาชาวอิสราเอลมาถึงบริเวณภูเขาซีนายแล้ว พระเจ้าได้ถามความสมัครใจของชาวอิสราเอลที่จะยอมรับพระองค์เป็นพระเจ้าสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว เพื่อที่จะได้แผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้ และทำให้พวกเขาเป็นอาณาจักรปุโรหิต และชนชาติบริสุทธิ์สำหรับพระเจ้า ชาวอิสราเอลได้ตอบรับพันธสัญญานี้ (ดู อพย 9) พระเจ้าจึงประทานบัญญัติ 10 ประการให้พวกเขา เป็นบัญญัติแห่งความรัก ซึ่งสรุปได้ว่า “รักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญา และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (เทียบ มธ 22:37-39)

            พระเป็นเจ้าทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากในโลกของเราเสมอ และทรงฟังเสียงของบรรดาผู้ยากจนในทุกยุคสมัย พระองค์ปรารถนาที่จะนำเราออกจากการเป็นทาสของบาปและความตาย ไปสู่อิสระภาพแห่งการมีชีวิตตามที่พระองค์ได้ทรงสร้างมนุษย์มา (ดู ปฐก 1:26-31) ต้นเหตุของความทุกข์ยากในยุคสมัยของเราก็คือ

            1) การเป็นทาสของสิ่งที่โลกนี้หยิบยื่นให้กับเรา ความสะดวกสบาย การอุปโภคบริโภค การสะสมทรัพย์สมบัติ

            2) ความจองหองที่มนุษย์ทำตัวเองเป็นพระเจ้า ต้องการที่จะเป็นเจ้าของสิ่งต่าง ๆ ในโลก เริ่มดูถูกเหยียดหยาม ไม่เห็นคุณค่า ศักดิ์ศรี ในการเป็นบุตรของพระเจ้าที่เท่าเทียมกันในเพื่อนมนุษย์คนอื่น หลงลืมไปว่าเราทุกคนนั้นเป็นพี่น้องกัน

            3) การบริโภคที่มากจนเกินไป การสะสมจนเกินพอดี การดำเนินชีวิตที่ขาดสมดุล ทำให้มนุษย์และสังคมเจ็บป่วย

            แต่พระเยซูเจ้าเอาชนะการผจญทั้ง 3 รูปแบบนี้ได้ เมื่อพระองค์ทรงถูกทดลองในถิ่นทุรกันดาร กล่าวคือ

            1) เอาชนะความต้องการฝ่ายร่างกายด้วยการปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้า (ไม่เสกก้อนหินให้เป็นขนมปัง)

            2) เอาชนะความจองหองด้วยความสุภาพ (ไม่กระโดดลงมาจากยอดพระวิหาร) และ

            3) เอาชนะความโลภด้วยการนมัสการและรับใช้พระเจ้า (ไม่ยอมกราบไหว้ปีศาจ) (เทียบ มธ 4:1-11)

คำมั่นสัญญาแห่งศีลล้างบาป

            เทศกาลมหาพรต จึงเป็นเทศกาลที่เราจะทบทวนคำมั่นสัญญาแห่งศีลล้างบาป ที่เราได้เคยให้ไว้เมื่อก่อนรับศีลล้างบาป ศีลมหาสนิทครั้งแรก ศีลกำลัง และรื้อฟื้นอย่างสง่าทุกวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ว่าเราจะละทิ้งบาปและกิจการของมัน และหันมาดำเนินชีวิตในความเชื่อในพระตรีเอกภาพ

            พระบัญญัติสิบประการ ซึ่งเป็นพันธสัญญาแห่งความซื่อสัตย์และความรัก เตือนเราให้ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าหนึ่งเดียว โดยไม่มีพระเจ้าอื่นใด เราจะนมัสการและรับใช้พระเจ้าหนึ่งเดียวของเราเท่านั้น และรักเพื่อนมนุษย์ทุกคนเหมือนที่พระเจ้าทรงรักเรา

จงระวัง อย่ากลับไปดินแดนแห่งการเป็นทาสอีก

            ในความอ่อนแอของชีวิตคริสตชน เราอาจหลงลืม ละทิ้ง ไม่ได้สนใจ หรือรสชาดของบาปและความตายอาจหลอกลวงเราให้หันกลับไปดำเนินชีวิตแบบเดิมอีกครั้ง ดังเช่นชาวอิสราเอลเมื่อต้องลำบากตรากตรำในทะเลทราย พวกเขาคิดถึงอาหารและความสะดวกสบาย เมื่อครั้งยังเป็นทาสในอียิปต์ พวกเขาจึงปรารถนาที่จะกลับไปที่นั่นอีกครั้ง (อพย 10:30) เช่นเดียวกับพวกเราที่อาจมีความเชื่อไม่เข้มแข็ง ความไม่เข้าใจในแผนการของพระเจ้าที่มีต่อเราในปัจจุบัน โรคภัยไข้เจ็บ ความสับสน ความทุกข์ทรมาน ความแห้งแล้งฝ่ายจิตวิญญาณ อาจทำให้เราท้อแท้ใจ สิ้นหวัง และอยากจะกลับไปดำเนินชีวิตแบบเก่า หรือหันกลับไปพึ่งพระเจ้าเท็จเทียมที่เราได้ประกาศละทิ้งมา ความรู้สึกนี้เองที่ทำให้เราหยุดที่จะก้าวต่อไปบนหนทางที่พระเจ้าได้จัดเตรียมไว้ให้กับเรา

การประกาศละทิ้งปีศาจและกิจการของมัน

            ถ้าเราตัดสินใจที่จะก้าวเดินต่อไป ด้วยการรื้อฟื้นพันธสัญญา (แห่งศีลล้างบาป) ที่เราได้เคยให้ไว้ เช่นเดียวกับชาวอิสราเอลที่ได้กระทำกับพระเป็นเจ้า ณ บริเวณภูเขาซีนาย เราจะกลับมาเป็นลูกที่ดีของพระเจ้า และเป็นพี่น้องกับเพื่อนพี่น้องคนอื่นอีกครั้ง แต่ถ้าเรากลับไปดำเนินชีวิตแบบเดิม เราก็เหมือนกับชาวอิสราเอลที่อยากกลับไปเป็นทาสของฟาโรห์ในประเทศอียิปต์อีกครั้งหนึ่ง ทาสซึ่งไม่สามารถไปรักเจ้านายได้ และเจ้านายก็ไม่สามารถที่จะมารักทาสได้ แต่พระเยซูเจ้าเป็นผู้สอนให้เราเรียกพระเป็นเจ้าว่า “บิดา” และทำให้เราได้เป็นพี่น้องกัน คนที่เป็นทาสจะต้องทำงานหนัก ตรากตรำลำบาก ถูกครอบงำ ทนทุกข์ตลอดไป ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ไม่มีอนาคต ไม่มีเวลาเป็นของตนเอง แต่พระเจ้าทรงรักเราและประทานอิสระเสรีภาพที่แท้จริงให้กับเรา

มหาพรต: เทศกาลแห่งการหยุด

            เทศกาลมหาพรตจึงเป็นช่วงเวลาที่เราจะหยุดสักพักหนึ่ง

            1. หยุดเพื่ออธิษฐานภาวนา ซึ่งจะช่วยทำให้จิตใจของเราสงบ พักฟื้น ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา ฟังพระวาจาและพระประสงค์ของพระเจ้า สร้างความสดชื่น พลังใจ เพื่อก้าวเดินต่อไป

            2. หยุดเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กลับคืนสู่ความสมดุลทางด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ ครอบครัว เพื่อนพี่น้อง สังคม และสิ่งแวดล้อม

            3. หยุดเพื่ออยู่ตรงหน้าพี่น้องชาวสะมาเรียของเราที่กำลังได้รับความเจ็บปวด บาดเจ็บ จากเศรษฐกิจ การเบียดเบียนทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความอ่อนแอ และความอยุติธรรมทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ

ก้าวเข้าไปสู่ในทะเลทรายฝ่ายจิตวิญญาณ

            การอธิษฐานภาวนา การทำบุญ และการพลีกรรมอดอาหาร จึงเป็นทะเลทรายฝ่ายจิตในเทศกาลมหาพรตให้กับเรา ทำให้เราได้ออกเดินทางฝ่ายจิตอีกครั้ง เพื่อรื้อฟื้นพันธสัญญาที่เคยให้ไว้กับพระเจ้า อาศัยการนำทางของพระจิตเจ้า เราจะได้รับการฟื้นฟูทางด้านจิตวิญญาณ ปรับเปลี่ยนหนทางการดำเนินชีวิตที่ไม่ตรงและขรุขระ เติมเต็มฝ่ายจิตวิญญาณด้วยพุน้ำแห่งพระหรรษทานของพระเจ้า ที่จะทำให้ชีวิตของเราอุดมสมบูรณ์ เปลี่ยนจากทะเลทรายให้เป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ สู่อิสรภาพแท้จริงที่พระเจ้าต้องการมอบให้กับเรา โดยทิ้งความเป็นทาสไว้เบื้องหลัง

มิติการกลับใจด้านชุมชน

            นอกจากมิติการกลับใจส่วนบุคคลแล้ว ยังเรียกร้องมิติการกลับใจด้านชุมชนอีกด้วย เพราะทุกสิ่งในโลกเชื่อมโยงถึงกัน ชุมชนคริสตชนจึงควรมีโอกาสพิจารณาร่วมกันว่า ในชุมชนของเรามีความเร่งด่วนจำเป็นอะไรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข การมีส่วนร่วมระหว่างกันโดยไม่แบ่งแยกหรือกีดกันผู้ใดออกไป ความรักความสามัคคีในชุมชน การแสดงออกถึงจิตตารมณ์คริสตชนในระดับชุมชนต่อสังคมรอบข้าง ผลกระทบต่อสิ่งสร้างและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ฯลฯ

ก้าวไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญ

            ขอให้เราได้ค้นพบความกล้าหาญที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิตของเรา ความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้าบนหนทางที่พระเจ้าได้ทรงเรียกเรา โดยละทิ้งและไม่หันกลับไปกระทำซ้ำในสิ่งที่เราให้เราตกเป็นทาส ความปรารถนาที่อยากจะเห็นโลกของเราไม่ใช่อยู่ในความตาย แต่อยู่ในกระบวนการคลอดบุตร คืออาศัยความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวด ความตาย ได้ทำให้เราและโลกได้มีชีวิตใหม่ ไม่ใช่จุดจบแต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ เช่นเดียวกับพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า ที่เราจะเฉลิมฉลองเมื่อเทศกาลมหาพรตผ่านพ้นไป

            นี่คือความกล้าหาญแห่งการกลับใจใหม่ ซึ่งเกิดจากความเป็นทาสในอดีต เพราะความเชื่อและความรักแบบความเมตตา (charity) ทำให้เรามีความหวัง จงนำเอาความหวังนี้ไปปฏิบัติ ทั้งความเชื่อ ความรักแบบความเมตตา และความหวัง จะเป็นพลังทำให้เราก้าวเดินไปข้างหน้า ในขณะเดียวกัน เราก็นำสามสิ่งนี้ไปข้างหน้าพร้อมกับเราด้วย...



[1] https://www.vatican.va/content/francesco/en/messages/lent/documents/20231203-messaggio-quaresima2024.html

สถิติการเยี่ยมชม

9693967
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
2151
3627
19401
9631860
10358
169976
9693967
Your IP: 18.119.143.4
Server Time: 2024-05-04 15:06:30

แบบฟอร์ม

instagram

พระศาสนจักร


สื่อ YOUTUBE


Laudato si’

บทเรียนคำสอน





บทภาวนา

พิธีกรรมต่างๆ

เอกสารพระศาสนจักร

บทความคำสอน



KAMSONCHAN

 

   องค์กรคาทอลิก              คณะนักบวช  
 

สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม
แผนกคริสตศาสนธรรม
อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ศูนย์คริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
สังฆมณฑลจันทบุรี
คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี
มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา
คามิลเลียนโซเชียลเซนเตอร์ ระยอง

  สังฆมณฑลนครราชสีมา                       
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลนครราชสีมา
สังฆมณฑลอุบลราชธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุบลราชธานี   
สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี
สังฆมณฑลนครสวรรค์
สังฆมณฑลเชียงใหม่
  สังฆมณฑลสุราษฎ์ธานี
สังฆมณฑลอุดรธานี
ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลอุดรธานี

สภาการศึกษาคาทอลิกประเทศไทย
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.)
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสุขภาพอนามัย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย
สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย (อุดมสาร)
  ชมรมอธิการิณีเจ้าคณะนักบวชแห่งประเทศไทย
คณะภคินีเซนต์ปอลเดอร์ชาร์ต
คณะภคินีศรีชุมพาบาล       
คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย
คณะเซนต์คาเบรียล
คณะซาเลเซียน
คณะซาเลเซียน (ซิสเตอร์)
กางเขนแดงสาร

 



JSN Megazine template designed by JoomlaShine.com