จากประตูแห่งความเชื่อ สู่ประตูศักดิ์สิทธิ์ (ตอนที่ 1)

(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

จากประตูแห่งความเชื่อ สู่ประตูศักดิ์สิทธิ์ (ตอนที่ 1)
PORTA FIDEI (The Door of Faith) to PORTA SANCTA (The Holy Door)

          พ่อได้รับเชิญให้อบรมเด็กนักเรียนระดับมัธยมต้นแห่งหนึ่ง พ่อสังเกตเห็นรอบ ๆ ในห้องนั้นนักเรียนมีโปสเตอร์ติดอยู่รอบห้อง และมีข้อความที่เด็กนักเรียนเขียนบนโปสเตอร์ เช่น

          “ครอบครัวเป็นบ่อเกิดแห่งความเชื่อ”

          “ความเชื่อมีจุดเริ่มต้นที่ครอบครัว”

          “พ่อแม่เป็นผู้สอนความเชื่อ”

          “ครูคำสอนสอนความเชื่อ”

          พ่อตั้งคำถาม ถามเด็กนักเรียนว่า ที่เขียนกันทั้งหมดนี้ บ่อเกิด, จุดเริ่มต้น, สอนความเชื่อคาทอลิกเราเชื่ออะไร?

          เงียบ.................ไม่มีใครตอบได้ บางตอบถูก ไม่ก็ไม่มั่นใจเท่าใดนัก

          ถ้าหากเราบอกว่า เราเชื่อ แต่เราบอกไม่ได้ว่า เราเชื่ออะไร เราเชื่อจริงหรือ?

          ถ้าหากเราบอกว่า เราเชื่อว่า พระคัมภีร์คือพระวาจาพระเจ้า แต่ เราไม่อ่าน ไม่ฟัง ไม่เรียนรู้พระวาจา ไม่ปฏิบัติตามพระวาจา เราเชื่อตามที่บอกจริง ๆ หรือ?

          ถ้าหากเราบอกว่า เราเชื่อว่า พระเป็นเจ้า ทรงสรรพานุภาพ สร้างฟ้าดิน มีเมตตาและรักเรามาก แต่ เราไม่ไปวัดสรรเสริญพระองค์ ไม่ไปแก้บาป เมื่อตกอยู่ในบาป ไม่สวดสม่ำเสมอ ไม่รับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ เราเชื่อตามที่บอกจริง ๆ หรือ?

          ถ้าหากเราบอกว่า เราเชื่อว่า คริสตชนเป็นวิหารของพระจิตเจ้า (ตามคำสอนของนักบุญเปาโล) พระเยซูเจ้าประทับอยู่กับเราผ่านทางศีลมหาสนิท แต่ เรายังนินทา ทำร้าย เอาเปรียบพี่น้องรอบข้างเท่ากับว่า เราทำร้ายที่ประทับของพระเยซูเจ้าด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้เราเชื่อตามที่บอกจริง ๆ หรือ?

          ถ้าหากเราบอกว่า เราเชื่อว่าเราทุกคนเป็นพี่น้องกันในพระคริสตเจ้า แต่ เราปฏิเสธที่จะแบ่งปันเวลา ความสามารถ อาหาร ทรพย์สมบัติ เพื่อช่วยพี่น้องในพระคริสตเจ้าถ้าเป็นเช่นนี้ เราเชื่อตามที่บอกจริง ๆ หรือ?

          หากคริสตชนเป็นแบบนี้ “จะมีประโยชน์ใดหากผู้หนึ่งอ้างว่ามีความเชื่อแต่ไม่มีการกระทำ ความเชื่อเช่นนี้จะช่วยให้เขารอดพ้นได้หรือ” (ยากอบ 2:14)

          ในโอกาสเดือนตุลาคม 2012 เป็นเดือนที่ครบรอบ 50 ปีแห่งการสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ซึ่งเริ่มขึ้น ในวันที่ 11 ตุลาคม 1962 และครบ 20 ปี การพิมพ์หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) เพื่อรำลึกถึงโอกาสสำคัญนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 จึงทรงประกาศ “ปีแห่งความเชื่อ” ให้พี่น้องคาทอลิกได้ทำการเฉลิมฉลอง ระหว่างเดือนตุลาคม 2012 ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2013 เพื่อเป็นการค้นพบและรื้อฟื้นความเชื่อคริสตชนอีกครั้งหนึ่ง

          พระสันตะปาปาทรงตรัสว่า “ปีแห่งความเชื่อ” นี้เป็นการเรียกร้องบรรดาสัตบุรุษให้กลับใจใหม่ เข้าหาพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นพระผู้ไถ่แต่พระองค์เดียวของโลก

          พระองค์ทรงให้เหตุผล “ถึงความจำเป็นที่เราต้องหันกลับมาค้นพบหนทางสู่ความเชื่อ กระตือรือร้นที่จะมีประสบการณ์พบปะกับพระคริสตเจ้า สาเหตุเพราะปัจจุบันคริสตชนมากมายได้รับผลกระทบจากวิกฤติลึกของความเชื่อ” (ประตูแห่งความเชื่อ: หน้า 10)

          พระองค์ทรงลิขิตว่า “ในอดีตนั้นเป็นไปได้ที่เรามีวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียว  กลมเกลียวกัน เนื้อหาและคุณค่าแห่งความเชื่อเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่สำหรับ ทุกวันนี้มันไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้วในสังคมส่วนใหญ่ เพราะวิกฤติของการขาดความเชื่อ ซึ่งมีผลต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก

          พระสันตะปาปาทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทาง วัฒนธรรมนี้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนทั้งในระดับปัญญาและระดับชีวิตจิตอันเป็นตัวบ่งชี้ ความเข้าใจในชีวิตของเรา

เรารับไม่ได้ที่เกลือจะกลับกลายไร้รสชาติและแสงสว่างจะถูกเก็บซ่อนไว้” (เทียบมธ 5:13-16)

          พระสันตะปาปาทรงประกาศ “มนุษย์ทุกวันนี้ยังสามารถที่จะมีประสบการณ์ถึงความจำเป็นที่จะต้องไปยัง บ่อน้ำ เฉกเช่นหญิงชาวสะมาเรีย เพื่อที่จะสดับฟังพระเยซู ผู้ทรงเชื้อเชิญเราให้มีความ เชื่อในพระองค์และให้ได้รับต้นตอแห่งน้ำทรงชีวิตที่ท่วมท้นขึ้นภายในพระองค์” (เทียบ ยน 4:14) “

          เราต้องค้นให้พบรสชาติใหม่สำหรับการหล่อเลี้ยงตัวเราเองในพระวาจาของ พระเจ้า ซึ่งพระศาสนจักรมอบต่อมายังเราอย่างสัตย์ซื่อ และในปังแห่งพลังชีวิตที่ถูก มอบให้เป็นยาบำรุงกำลังให้กับบรรดาศิษย์ของพระองค์” (เทียบ ยน 6:51)

          พระสันตะปาปากำลังกล่าวอะไรกับเรา? พระองค์กำลังกล่าวจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ในการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมแห่งศาสนาเพื่อรื้อฟื้นความเชื่อ เพื่อเข้าใจความเชื่อ ให้ลึกซึ้ง และเพื่อแบ่งปันความเชื่อดังกล่าวให้กับผู้อื่น ไม่ใช่ด้วยการสอนเท่านั้น แต่ด้วยการกระทำที่เป็นแบบฉบับแห่งความรักของคริสตชนด้วย (ประตูแห่งความเชื่อ: หน้า 32-35)

          หากคริสตชนมีความเชื่อที่แท้จริง เขาต้องเป็นคริสตชนที่นักบุญโทมัส อากวีนัส ได้เขียนใน Summa Theologica ว่า

           “เมื่อใครคนหนึ่งมีจิตใจพร้อมที่จะเชื่อ
          เขาจะรักความจริงที่เขาเชื่อ
          เขาจะอยู่กับความเชื่อนี้
          ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่เขาแสวงหาได้
          เพื่อยืนยันถึงความเชื่อนี้”1

          ไม่ใช่บอกว่า ฉันเชื่อ ฉันเชื่อ ฉันเชื่อ แต่การดำเนินชีวิตคริสตชนไม่บ่งบอกเลย ฉันเชื่อ



1 ความรักล้นหลาม 2013 โดยราฟาแอล หน้า 31

 

(ติดตามตอนต่อไป)

จากประตูแห่งความเชื่อ สู่ประตูศักดิ์สิทธิ์ (ตอนที่ 2)