พ่อเล่าเรื่อง 95 Apostolic Constitution Praedicate Evangelium

เมื่อวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2022 โอกาสสมโภชนักบุญโยเซฟ ภัสดาบริสุทธิ์ยิ่งของพระนางมารีย์ พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงประกาศสังฆธรรมนูญ (Apostolic Constitution) เรื่องการทำงานของสันตะสำนัก (Roman Curia) ชื่อ การประกาศข่าวดี (Praedicate Evangelium) เพื่อให้แนวทางการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานแพร่ธรรมของสันตะสำนักดีขึ้น รับใช้พระศาสนจักรท้องถิ่น (สังฆมณฑลต่าง ๆ) และหน้าที่ในการประกาศข่าวดี ซึ่งจะประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันสมโภชพระจิตเจ้า วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 2022 นี้

สังฆธรรมนูญนี้ผ่านกระบวนการทำงานอย่างยาวนาน ตั้งแต่การประชุมของบรรดาพระคาร์ดินัล (Conclave) เมื่อปี ค.ศ. 2013 และสิ้นสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลากว่า 9 ปี) ภายใต้คำแนะนำของพระสันตะปาปาฟรังซิส และตัวแทนของสังฆมณฑลต่าง ๆ ทั่วโลก โดยสังฆธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะมาแทนที่สังฆธรรมนูญ “นายชุมพาบาลที่ดี” (Pastor bonus) ซึ่งประกาศโดยนักบุญพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1988 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1989

การทำงานที่เน้นการประกาศข่าดี (Evangelization-focused Curia)

สังฆธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นหนทางแห่งการฟื้นฟูการทำงานหน่วยงานต่าง ๆ ของสันตะสำนักทั้งหมด การปรับปรุงโครงสร้างการทำงาน การยุบหรือเพิ่มบางหน่วยงานขึ้นมาใหม่ บรรดาเลขาธิการรัฐวาติกัน ตลอดจนสมณมนตรีของสมณกระทรวง และหน่วยงานต่าง ๆ มีความเท่าเทียมกันตามกฎหมายของพระศาสนจักร

โดยสมณกระทรวงเพื่อการประกาศข่าวดีแห่งปวงชน (Congregation for the Evangelization of Peoples) และ สมณสภาเพื่อการประกาศข่าวดีในยุคใหม่ (Pontifical Council for New Evangelization) จะขึ้นกับพระสันตะปาปาโดยตรง โดยมีสมณมนตรีเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แทน (Pro-prefect)

งานสงเคราะห์ที่มุ่งไปสู่คนยากจนและบุคคลชายขอบ (Charity toward the poor and marginalized)

มีการจัดตั้งสมณสภาเพื่องานการกุศล (Dicastery for the Service of Charity) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เงินทำบุญของอัครสาวก” (Apostolic Elemosineria) ทำหน้าที่ดูแลด้านงานการกุศลของพระสันตะปาปา ซึ่งถือว่ามีบทบาทที่สำคัญในสันตะสำนัก ที่แสดงออกถึงความรักและความเมตตาต่อผู้ยากจน ผู้อ่อนแอ บุคคลชายขอบของสังคม หรือในกรณีเดือดร้อนเร่งด่วนต่าง ๆ ทั่วโลก

มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อปกป้องผู้เยาว์ (Commission for the Protection of Minors) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม (Congregation for the Doctrine of the Faith) ซึ่งจะมีระเบียบการทำงาน ประธาน และเลขานุการเป็นของตนเอง

ศิษย์ธรรมทูต (Missionary disciples)

หลักการเบื้องต้นของสังฆธรรมนูญฉบับนี้กล่าวถึง คริสตชนทุกคนเป็นศิษย์ธรรมทูตอันเกิดขึ้นมาจากศีลล้างบาป เพราะเขาได้สัมผัสความรักของพระเป็นเจ้าในพระเยซูเจ้า พวกเขาจึงสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสันตะสำนัก ดังนั้น บรรดาคริสตชนฆราวาสก็สามารถที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาทำงานและมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบของสันตะสำนักได้

การรับใช้ของพระสันตะปาปาและพระศาสนจักรท้องถิ่นต่าง ๆ (At service of Pope and local Churches)

สังฆธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้เน้นย้ำว่า สันตะสำนักเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อรับใช้พระสันตะปาปาในฐานะที่เป็นบิชอปแห่งกรุงโรม เพื่อความดีงามของพระศาสนจักรสากล บรรดาบิชอป พระศาสนจักรท้องถิ่นต่าง ๆ และรับใช้ซึ่งกันและกัน (Two-way services) ดังนั้น สันตะสำนักจึงเป็นศิษย์ธรรมทูตในตัวเองอีกด้วย

ระยะเวลาทำงานของบาทหลวงและนักบวช (Term limit for clerics and religious)

ในสังฆธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ยังให้คำจำกัดความของเลขาธิการนครรัฐวาติกัน (Secretariat of State) ว่าเป็น “เลขาธิการของพระสันตะปาปา” (Papal Secretariat), การโอนสำนักงานบุคลากรคูเรียไปยังสำนักเลขาธิการเศรษฐกิจ (the Secretariat for the Economy), การทำงานของคณะกรรมการบริหารทรัพย์สินแห่งสันตะสำนัก (Administration of the Patrimony of the Apostolic See) จะต้องเกี่ยวข้องกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อศาสนา, บาทหลวงและนักบวชที่ทำงานในสันตะสำนักมีอายุ 5 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 5 ปี จากนั้นจะต้องกลับไปทำงานยังสังฆมณฑลหรือหมู่คณะของตนเอง ...