วันฮาโลวีนกับคริสต์ศาสนา (Halloween and Christianity)

            วันฮาโลวีน (Halloween) คือ เทศกาลเฉลิมฉลองประจำปีในวัฒนธรรมของตะวันตก โดยจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี ปัจจุบันฮาโลวีนกลายเป็นเทศกาลที่นิยมจัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

            ฮาโลวีนไม่ใช่เทศกาลในคริสตศาสนา แต่ก็มีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับความหมายของวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (1 พฤศจิกายน) และวันภาวนาอุทิศให้ผู้ล่วงลับ (2 พฤศจิกายน) ดังนั้น คริสตชนจึงควรเข้าใจความหมายและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เมื่อไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว หรือสามารถอธิบายให้กับบุคคลอื่นได้

            คำว่า “Halloween” ในภาษาอังกฤษ มาจากคำ "All Hallows Eves" หมายถึง "วันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย" (Hallow แปลว่า ศักดิ์สิทธิ์, วงกลมล้อมรอบศีรษะของบรรดานักบุญ)

            เชื่อว่าประวัติวันฮาโลวีน เริ่มต้นมาจากวันฉลองปีใหม่ของชาวเซลท์หรือเซลติก (Celt or Celtic) ชนพื้นเมืองในไอร์แลนด์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน อีกประการหนึ่งเป็นวันสิ้นสุดฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูหนาว สิ้นสุดของช่วงแห่งความสว่างเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความมืด

            โดยก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน ซึ่งตรงกับ วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี ชาวเซลท์เชื่อว่าเป็นวันที่วิญญาณของคนตายได้กลับมายังโลกมนุษย์ และวิญญาณภูตผีเหล่านี้จะพยายามสิงร่างของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นวันที่โลกนี้และโลกหน้าโคจรเข้ามาใกล้กันมากที่สุด วันที่ 31 ตุลาคม จึงเป็นวันเฉลิมฉลองเทพเจ้าแห่งความตายหรือเทศกาลซัมเฮน (Samhain) หรือเรียกว่า “เทศกาลแห่งความตาย” (Festival of the Dead)

            วิญญาณของบรรพบุรุษก็จะได้รับการต้อนรับ (จึงต้องทำพิธีต้อนรับหรือพิธีระลึกถึง) ขณะเดียวกัน วิญญาณที่ชั่วร้ายก็จะถูกขับไล่ ซึ่งการขับไล่ปีศาจสามารถทำได้ด้วยการสวมชุดและหน้ากากผี

            ชาวเซลท์จึงพยายามทำทุกทางเพื่อป้องกันผีร้าย ไม่ว่าจะเป็นการดับไฟ (ที่เป็นแสงสว่าง) ไม่ก่อกองเพลิง ทำให้บ้านมืดสนิท เพื่อให้อากาศหนาวเย็น รวมถึงไอเดียในการแต่งตัว และแต่งหน้าปลอมเป็นผีเดินตามท้องถนน สังสรรค์เสียงดัง เพื่อไม่ให้ผีเข้าใกล้ และตกใจกลัวจนหนีไป ทำให้ทุกคืนวันที่ 31 ตุลาคม กลายเป็นธรรมเนียมที่ชาวเซลท์จะแต่งตัวออกมาหลอกผี เพื่อไม่ให้ภูตผีและปิศาจมาทำร้าย ซึ่งต่อมาได้เผยแพร่ไปยังประเทศอื่นๆ และกลายเป็นวันฮาโลวีนเช่นในปัจจุบัน

            เทศกาลซัมเฮน (Samhain) ยังเป็นวันแห่งการตุนอาหารไว้สำหรับฤดูหนาว และมีการเล่นรอบกองไฟในหลายที่ ไฟและแสงสว่างประเภทอื่นจะถูกดับลง และบ้านแต่ละหลังจะจุดไฟในเตา ส่วนกระดูกของสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร จะถูกโยนเข้าไปในเปลวเพลิงนี้ บางครั้งกองไฟ 2 กองจะถูกจุดไว้ข้าง ๆ กัน ผู้คนกับสัตว์ที่เลี้ยงไว้จะเดินวนระหว่างสองกองไฟ ถือเป็นพิธีการชะล้าง

            บางบ้านหรือบางคนจะเอาโครงกระดูกที่เหลือจากการแล่เนื้อมาแขวนไว้ที่หน้าต่าง เพื่อแสดงออกถึงความตาย เอาหัวผักกาดมาทำเป็นโคมไฟแขวนไว้ มีลักษณะเหมือนกับศีรษะหรือหัวของคน (คนตาย) ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการขับไล่ปีศาจร้าย

            ฟักทองที่แกะสลักให้เป็นหน้าผี คือสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีนที่หลายคนคุ้นเคย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากตำนานพื้นบ้านไอร์แลนด์ เรื่องของ "แจ็ค โอแลนเทิร์น" (Jack O'Lanterns) ชายขี้เมาที่ใช้เล่ห์กลหลอกให้ปิศาจอยู่บนต้นไม้ แล้วเขาทำเครื่องหมายกากบาทไว้ที่โคนต้นไม้ ปิศาจจึงลงมาไม่ได้

            แจ็ค โอแลนเทิร์น ได้โอกาสจึงทำข้อตกลงห้ามไม่ให้ปิศาจมาหลอก หรือนำสิ่งไม่ดีมาสู่ตัวเขา ปิศาจตอบตกลง โดยหลังจากที่แจ็คเสียชีวิต เขาปฏิเสธที่จะขึ้นสวรรค์และลงนรก ปิศาจจึงมอบถ่านร้อนๆ ที่กำลังคุไฟให้ เพื่อให้เขาใช้เป็นแสงสว่างและสร้างความอบอุ่นในค่ำคืนที่หนาวเย็น
แจ็คได้เจาะหัวผักกาดให้กลวง และนำถ่านไปใส่ไว้ ต่อมาชาวอเมริกันได้ใช้ฟักทองที่หาได้ง่ายกว่ามาแทนหัวผักกาด

            ส่วนเด็ก ๆ จะนิยมเล่น “ทริคออร์ทรีต” (Trick-or-Treating) ซึ่งหมายถึงการแต่งกายด้วยชุดแฟนตาซีแบบผี ๆ เดินออกไปตามท้องถนนเพื่อเคาะประตูบ้านต่าง ๆ พร้อมถามว่า "Trick-or-Treating" เพื่อให้เลือกว่าจะให้เล่นหลอกผี หรือจะให้ขนมและลูกกวาดที่ทำจากเม็ดข้าวโพด (Corn Candy) นั่นเอง


วันฮาโลวีนกับคริสตชน (Halloween with Christianity)

            ปกติแล้วคริสตชนคาทอลิกจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทศกาลฮาโลวีน ถือว่าเป็นเทศกาลทางโลก มีไว้เพื่อส่งเสริมธุรกิจการค้า การขายสินค้าและของตกแต่ง ความสนุกสนานในการแต่งกายหรือตกแต่งสถานที่ คริสตชนที่ร่วมกิจกรรมวันฮาโลวีนนี้ จึงควรเข้าใจความหมายที่ถูกต้อง ระหว่างเทศกาลทางโลกกับเทศกาลทางศาสนา

            แต่เตือนให้บรรดาคริสตชนระลึกถึงวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (All Saints Day) ที่ใกล้จะมาถึง คือวันที่ 1 พฤศจิกายน และวันภาวนาอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ (All Souls Day) คือวันที่ 2 พฤศจิกายน และตลอดเดือนพฤศจิกายนที่จะต้องอธิษฐานภาวนาและทำความดีเป็นพิเศษเพื่ออุทิศให้กับผู้ล่วงลับ

วันวาเลนไทน์ (Valentine Day)

            เช่นเดียวกับวันวาเลนไทน์ ที่แม้ว่าพระศาสนจักรคาทอลิกเคยทำการระลึกถึงนักบุญวาเลนติโนหรือวาเลนไทน์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ในอดีต แต่ตามปฏิทินพิธีกรรมปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว (นักบุญวาเลนไทน์ยังคงมีความสำคัญ และเป็นนักบุญอยู่ แต่ไม่ได้ระลึกถึงหรือฉลองอย่างเป็นทางการ อาจจะเป็นเพราะป้องกันไม่ให้หลายคนเข้าใจความหมายของความรักแท้ผิดเพี้ยนไป) โดยได้กำหนดระลึกถึงนักบุญซีริล นักพรต และนักบุญเมโธดิอุส บิชอป (SS. Cyri, Monk, & Methodius, Bishop) ซึ่งทั้งสองท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของทวีปยุโรปแทน

เทศกาลคริสต์มาส (Christmastide)

            แม้กระทั่งเทศกาลคริสต์มาสที่กลายเป็นเทศกาลของชาวโลก บรรดาคริสตชนไม่ให้ความหมายเพียงแค่การตกแต่งสถานที่ภายนอก ด้วยต้นคริสต์มาส ซานตาครอส และของตกแต่งอื่น ๆ แต่เน้นเป็นการเตรียมจิตใจภายในเพื่อระลึกถึงการที่พระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้าได้มาบังเกิดเป็นบุตรของมนุษย์ และรอคอยการเสด็จกลับมาของพระองค์อีกเป็นครั้งที่สอง โดยมีองค์พระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางผู้เลือกประสูติมาอย่างยากจนในคอกเลี้ยงสัตว์ มีนักบุญโยเซฟและพระแม่มารีย์เป็นผู้ดูแล ล้อมรอบไปด้วยคนเลี้ยงแกะที่มาชื่นชม และบรรดานักปราชญ์ทั้งสามที่เดินทางมานมัสการพระองค์


#ศิษย์พระคริสต์ #ศิษย์ธรรมทูต

#คำสอนจันท์ #kamsonchan

#chanthaburidiocese