อย่าตัดสินผู้อื่น

(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

วันหนึ่ง จูกัดเหลียง แห่ง จ๊กก๊ก พร้อมศิษยานุศิษย์
เดินทางรอนแรมอยู่กลางป่า พอได้เวลาอาหาร
ลูกศิษย์เตรียมตักข้าวใส่จานพร้อมสำรับอาหาร
ขณะกำลังตักข้าวอยู่ห่างๆนั้น ท่านจูกัดเหลียง
สังเกตเห็นว่าลูกศิษย์หยิบข้าวจากจาน 
ของท่านขึ้นมาใส่ปากเคี้ยว ท่านจึงสอนและชี้ให้เห็นว่า 
การหยิบอาหารจากสำรับของครูบาอาจารย์
มารับประทานก่อนได้รับอนุญาตนั้น
แสดงถึงความ “อนารยะ” ที่น่าตำหนิอย่างยิ่ง
ลูกศิษย์จึงขอโอกาสชี้แจง

“อาจารย์ครับ ที่กระผมหยิบข้าวจากจานของอาจารย์
ขึ้นมารับประทานก่อน หาใช่กระทำไปด้วยความเขลา
หรือขาดคารวะก็หาไม่ แต่ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในจานข้าวของอาจารย์
มีผงถ่านสีดำปนเปื้อนข้าวอยู่ ครั้นจะยกมาให้อาจารย์เลย
ก็เกรงว่าคงไม่เหมาะ จะหยิบข้าวที่เปื้อนนั้นทิ้งก็เสียดาย
เพราะข้าวหายากและจำเป็นมากสำหรับการอยู่รอดในยามวิกฤติ
กระผมก็เลยหยิบข้าวที่เปื้อนนั้นขึ้นมารับประทานเสียเองขอรับ”

แววตาที่ฉายแววดุของผู้เป็นอาจารย์ ค่อย ๆ ทอประกายอ่อนโยน
ด้วยเมตตาก่อนเอ่ยวาจาขอโทษผู้เป็นศิษย์อย่างไม่ถือตัว

บ่อยครั้งที่เรามักตัดสินอะไรผิดพลาดอย่างง่ายดายจนเสียทั้งคน
เสียทั้งงานและบางทีก็เสียผู้เสียคน
เสียเกียรติภูมิที่สู้สั่งสมมาทั้งชีวิตในชั่วพริบตา
เพียงเพราะเราเชื่อในสิ่งที่สายตารายงาน
ขณะที่บางด้านของความจริงกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง
สามีทะเลาะกับภรรยา พ่อแม่ทะเลาะกับลูก นายเข้าใจผิดลูกน้อง
เพื่อนแตกจากเพื่อน คนรักหันหลังให้กันทั้งที่ต่างฝ่ายก็แสนดี
เพียงเพราะต่างก็เชื่อใน “สิ่งที่ตาเห็น” แต่ละเลยการ “เมียงมอง”
อย่างพินิจแยบคายด้วยสำนึกในความจริงที่สำคัญที่ว่า
ไม่มีใครจะรู้แจ้งอย่างแท้จริงในทุกสิ่งได้
เว้นแต่พระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่งเท่านั้น

"อย่าตัดสินเขา และท่านจะไม่ถูกพระเจ้าตัดสิน
ท่านตัดสินเขาอย่างไร พระเจ้าจะทรงตัดสินท่านอย่างนั้น
ท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา
พระเจ้าจะทรงใช้ทะนานนั้นตวงให้ท่าน
ทำไมท่านจึงมองดูเศษฟางในดวงตาของพี่น้อง
แต่ไม่สังเกตเห็นท่อนซุงในดวงตาของตนเลย"

(มธ 7:1-3) ..."

 

โดย คุณสุญาโณ จงตระกูลศิริ